การต่อใบอนุญาตทำงาน
ใบอนุญาตทำงาน หรือ work permit หมายถึง เอกสารที่ออกให้บุคคลต่างชาติ หรือ แรงงานต่างชาติเพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถทำงานได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย การต่อใบอนุญาตทำงาน สามารถดำเนินการยื่นขอต่ออายุก่อนใบอนุญาตหมดอายุ 1 เดือน และสามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี
ใบอนุญาตทำงานต่างด้าวรูปแบบใหม่ E-Work Permit จะเป็นใบอนุญาตทำงานที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบบัตรพลาสติก หรือสมาร์ทการ์ด (Smart card) ซึ่งง่ายต่อการพกพา มีระบบป้องกันในการ ปลอมแปลงและง่ายในการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน (Smart Phone) ตรวจสอบจาก QR Code ที่ปรากฏบนบัตร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวได้เป็นอย่างดี
โดยแรงงานนำเข้าแบบ (MOU) จะได้รับใบอนุญาตทำงานแบบ E – Work Permit ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างงาน ทั้งนี้เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว
การขออนุญาตทำงานครั้งแรก หรือเมื่อใบอนุญาตเดิมขาดหมดอายุจึงขอใหม่ มีคุณสมบัติดังนี้
1.คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง(NON-IMMIGRANT)โดยมิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน ( TOURIST/TRANSIT )ซึ่งจะอนุญาตทำงานในครั้งแรก หรือเมื่อใบอนุญาตเดิมขาดต่ออายุจึงขอใหม่
2.มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต
3.ไม่เป็นบุคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั้นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะสุดท้าย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
4.ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันขอรับใบอนุญาต
เอกสารสำหรับยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน (Work permit) มีดังต่อไปนี้
1.แบบคำขอ ตท.1 กรณีชาวต่างชาติ และรูปถ่ายขนาด 3×4 เซนติเมตร (1 นิ้วครึ่ง) จำนวน 3 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน ที่ไม่ใช่รูปจากคอมพิวเตอร์/โพลารอยด์) กรณีแรงงานสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ใช้แบบฟอร์ม ตท. 2
2.หนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงความจำเป็นในการจ้างแรงงานต่างด้าว กรณีบริษัทผ่าน B.O.I หรือ กนอ ให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ยื่นใช้สิทธิ์ B.O.I หรือ กนอ. พร้อมสำเนาบัตรส่งเสริมต่างชาติ (กลุ่ม BOI หรือส่งเสริมการลงทุน)
3.หนังสือรับรองการจ้างงาน หรือ สัญญาจ้าง กรณีพม่า ลาว กัมพูชาใช้หนังสือรับรองการจ้าง
4.สำเนาการศึกษาและหลักฐานการผ่านงาน (กรณี กลุ่ม NON “B” กรณีพม่า ลาว กัมพูชาไม่ใช้)
5.ใบรับรองแพทย์
6.สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวพร้อมฉบับจริง กรณีพม่า ลาว กัมพูชา ใช้สำเนาหนังสือเดินทาง
7.สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในกรณีที่เป็นการประกอบวิชาชีพที่กฏหมายกำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (กลุ่ม NON “B” หรือกลุ่ม BOI) กรณี พม่า ลาว กัมพูชา ไม่ใช้
8.หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้าง (กรณีนายจ้างเป็นชาวต่างชาติ ใช้สำเนาหนังสือ เดินทางทุกหน้าที่มีรายการ และ สำเนาใบอนุญาตทำงาน) ติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
เอกสารที่ประกอบการพิจารณาตามประเภทของกิจการ/นายจ้าง
1. สถานประกอบการเอกชน
1.1 สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคลไทย และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ไม่เกิน 6 เดือน) หรือนิติบุคคลต่างด้าวให้ยื่นสำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวออกตามพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 พร้อมนำหลักฐานการนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ (แล้วแต่กรณี) กรณีพม่า ลาว กัมพูชา ใช้หนังสือรับรองบริษัท
1.2 สำเนาทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01 และ ภ.พ.20) ที่ระบุประเภทกิจการ ภ.พ.09 หากมีการเปลี่ยนแปลง (แล้วแต่กรณี) กรณีพม่า ลาว กัมพูชา ไม่ใช้
1.3 กรณีนายจ้างเป็นคนต่างด้าว ให้แนบสำเนาใบอนุญาตทำงานของนายจ้าง หากนายจ้างผู้นั้นไม่ได้ทำงานในประเทศไทย และไม่มีใบอนุญาตทำงานต้องให้ Notary Public และสถานทูตไทยรับรองการมอบอำนาจให้กรรมการหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งลงนามแทน ให้แนบสำเนาหนังสือเดินทางและสำเนาใบอนุญาตทำงาน
1.4 กรณีนายจ้างประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายอื่น หรือต้องมีหนังสืออนุญาตให้ดำเนินกิจการจากหน่วยงาน ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่นหนังสืออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน, หนังสืออนุญาตประกอบกิจการโรงแรม, ใบอนุญาตองค์กรอาหารและยา, ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว, ใบอนุญาตให้ใช้สถานที่เป็น สถานที่จำหน่ายอาหาร ฯลฯ กรณีพม่า ลาว กัมพูชาไม่ใช้
1.5 บัญชีรายชื่อคนต่างด้าว พร้อมเลขที่ใบอนุญาตทำงาน อยู่ในสถานประกอบการ แผนภูมิการแบ่งงานและแผนที่ตั้งของสถานประกอบการ (แล้วแต่กรณี) กรณีพม่า ลาว กัมพูชา ไม่ใช้
1.6 สำเนาหลักฐานการจ่ายเงินประกันสังคมเดือนล่าสุด และสำเนาเอกสารรายได้ที่เป็นปัจจุบัน ได้แก่งบการเงิน และ ภงด.50 หรือ ภงด.51 (ปีล่าสุด) และภพ.30 (แล้วแต่กรณี) กรณีพม่า ลาว กัมพูชา ไม่ใช้
1.7 รูปถ่ายสถานประกอบการ 4 รูป ป้ายชื่อบริษัท 1 รูป ด้านหน้าเห็นตัวอาคาร 1 รูป ภายใน 2 รูป (รูปถ่ายในโรงงาน 2 รูป) ถ้ามี (แล้วแต่กรณี) กรณีพม่า ลาว กัมพูชา ไม่ใช้
2. โรงเรียนเอกชน/มหาวิทยาลัยเอกชน
2.1สำเนาหนังสือแต่งตั้งครูหรือผู้สอน (ผู้ทำหน้าที่ด้านการเรียนการสอน) ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมสัญญาจ้าง/มหาวิทยาลัยเอกชนให้แสดงหนังสือรับรองการหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยระบุชื่อคนต่างด้าว ตำแหน่งและระยะเวลาการจ้าง
2.2 ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา) ยกเว้นตำแหน่งครูฝึกสอน หรือใบผ่อนผันใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
2.3 สำเนาใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ใบอนุญาตให้เป็นครูใหญ่ และใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการ/ใบอนุญาตต่างๆ (ถ้ามี) สำเนาใบจัดตั้งมหาวิทยาลัยและคำสั่งแต่งตั้งผู้มีอำนาจลงนามของมหาวิทยาลัย
2.4 เอกสารแสดงวุฒิการศึกษา/เอกสารแสดงผลการศึกษารายวิชา และเอกสารแสดงประสบการณ์การเป็นครู (ถ้ามี)
3. หน่วยงานราชการ
3.1 หนังสือรับรองจากส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ/องค์การมหาชน/เขตการศึกษา (กรณีครูโรงเรียนรัฐบาล)โดยระบุชื่อ ตำแหน่ง และระยะเวลาการจ้างงาน
3.2 กรณีครูโรงเรียนรัฐบาลให้แสดงใบประกอบวิชาชีพครู (ตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา) ยกเว้น ตำแหน่งครูฝึกสอน
4. มูลนิธิหรือสมาคม
หนังสือรับรองนิติบุคคลของมูลนิธิ สมาคม วัตถุประสงค์ พร้อมบัญชีรายชื่อคณะกรรมการ
5. กิจการถ่ายหรือทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ
5.1 หนังสือรับรองจากสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว ใบอนุญาตเป็นผู้ประสานงาน พร้อมรายชื่อ–ตำแหน่งงาน และเลขที่หนังสือเดินทางของคนต่างด้าว
5.2 สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ไม่เกิน 6 เดือน)
**หมายเหตุ**
1. เอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศ ยกเว้นภาษาอังกฤษ ให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย ที่มีการรับรองความถูกต้อง
2. สำเนาเอกสารทุกฉบับต้องลงลายมือชื่อรับรอง ดังนี้
♦ เอกสารของนายจ้าง ให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท (ถ้ามี) หรือผู้รับมอบอำนาจ
♦ เอกสารของสารต่างด้าวให้คนต่างด้าวลงลายมือชื่อ หรือผู้รับมอบอำนาจ