การรับแจ้งอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน
คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแล้ว ถ้าอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน คนต่างด้าวผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยต่อพนักงานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทุก90 วัน หากท้องที่ใดมีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่จะแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการแห่งนั้น ก็ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา 37(5) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หากไม่มีให้แจ้งต่อสถานีตำรวจอันเป็นสถานที่ตั้งของสถานที่ทำงาน
วิธีการรับแจ้งอยู่ในราชอาณาจักร เกิน 90 วัน
- คนต่างด้าวดำเนินการแจ้งด้วยตนเอง หรือ
- คนต่างด้าวมอบหมายให้ผู้อื่นนำหนังสือไปแจ้ง หรือ
- คนต่างด้าวอาจมีหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือ
- นายจ้างเข้าร่วมโครงการระบบการแจ้งที่พัก 90 วันผ่านการบันทึกระบบ Online
- คนต่างด้าวสามารถแจ้งที่พักอาศัยได้ ก่อน 15 วัน หรือหลัง 7 วัน นับจากวันครบกำหนด (ตามคำสั่ง สตม.ที่ 222/2553 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2553)
เอกสารประกอบการรายงานตัว 90 วัน
- ต้นฉบับหนังสือเดินทาง (Passport) พร้อม บัตร ตม.6
- หลักฐานการทำงาน
** กรณีที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานให้นำเอกสารต่อไปนี้มาแสดง
♦ ใบรับคำขอใช้แทนใบอนุญาตทำงานชั่วคราว จากสำนักงานจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1-10 หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัด
♦ ใบเสร็จรับเงินรับเงินขอรับใบอนุญาตทำงาน
♦ กรณีเปลี่ยนนายจ้าง ให้ใช้ใบรับคำขอและใบเสร็จรับเงินขอรับใบอนุญาตทำงานจาก สำนักงานจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงาน จัดหางานจังหวัด
- ใบแจ้งกำหนดนัดรายงานตัว
- แบบฟอร์ม ตม. 47 (กรอกข้อความให้ครบถ้วน พร้อมแรงงานต่างด้าว พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือขวาในแบบฟอร์ม ตม. 47 และในบัตร ตม.6)
**หมายเหตุ**
- การรับแจ้งที่พักอาศัย กรณีคนต่างด้าวอยู่เกิน 90 วัน มิใช่ เป็นการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร
- หากเกินกำหนดนัดหรือเกินกำหนดที่จะต้องแจ้งคนต่างด้าวต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทและปรับอีกวันละไม่เกินวันละสองร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- กรณีเกินกำหนดที่จะต้องแจ้งที่พักฯ คนต่างด้าวต้องมารายงานตัวด้วยตนเองเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท
- กรณีคนต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศก่อนครบกำหนดนัดครั้งต่อไป เมื่อเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ให้มารายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยครั้งต่อไป เมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ครั้งสุดท้าย