ตรวจลงตราวีซ่า

              การตรวจลงตรา หรือ วีซ่า คือ  เอกสารที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว เป็นเอกสารซึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งได้ออกให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งภายใต้การพิจารณาของประเทศนั้นๆ แต่เพียงผู้เดียว เพื่อเป็นการแสดงว่าได้อนุญาตให้ต่างด้าวบุคคลนั้นสามารถเดินทางเข้าประเทศผู้ได้ออกตรวจลงตรานั้นได้ ภายในช่วงระยะเวลาและขอบเขตของจุดประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ในการยื่นคำร้องขอรับการตรวจลงตรา ใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขณะเดินทางเข้าประเทศผู้ออกตรวจลงตรา

             ปกติแล้วจะมีการประทับตรวจลงตราไว้ในหนังสือเดินทาง อาจเป็นในรูปแบบแผ่นสติ๊กเกอร์ ตราประทับ หรืออาจอยู่ในรูปเอกสารอื่นใดที่ไม่ได้ประทับลงในหนังสือเดินทาง ในปัจจุบันการตรวจลงตราในบางประเทศเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ผ่านเครือข่ายในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งจะไม่ปรากฏเครื่องหมายใดๆในหนังสือเดินทางหรือไม่มีเอกสารที่แสดงถึงการได้รับตรวจลงตราแล้วการตรวจลงตราอาจเป็นเอกสารที่แสดงว่าบุคคลหนึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าหรือเดินทางออกจากพื้นที่ของประเทศอันเป็นของผู้ออก

ประเภทของวีซ่า

  1. วีซ่าเดินทางผ่าน(Transit Visa) ปกติจะมีอายุประมาณ 5 วัน เพื่อเป็นทางผ่านไปยังประเทศอื่นที่เป็นจุดหมายอันไม่ใช่ประเทศที่ได้รับอนุญาตซึ่งวีซ่าเดินทางผ่าน
  2. วีซ่าท่องเที่ยว(Tourist Visa) เป็นวีซ่าที่มีจุดประสงค์ในการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวหรือสันทนาการ โดยไม่มีกิจกรรมทางธุรกิจมาเกี่ยวข้องระหว่างการเดินทางนั้นๆ
  3. วีซ่าธุรกิจ(Business Visa) เป็นวีซ่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำการค้าหรือติดต่อธุรกิจในประเทศผู้ออกวีซ่า หรือกิจกรรมอื่นใดอันเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ในบางประเทศจะมีการรวมเอาการจ้างงานอย่างถาวรไว้ในการอนุญาตนี้ด้วย
  4. วีซ่าทำงานชั่วคราว(Temporary Worker Visa) เป็นวีซ่าที่แสดงว่าบุคคลนั้นได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศนั้นได้ชั่วคราวตามเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ในวีซ่า ส่วนใหญ่วีซ่าชนิดนี้ มีขั้นตอนวิธีปฏิบัติมาก การได้มาซึ่งวีซ่าจึงค่อนข้างยาก แต่มีช่วงเวลาการได้รับอนุญาตที่ยาวนานกว่าวีซ่าธุรกิจ
  5. วีซ่า ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง(On-Arrival Visa) เป็นวีซ่าที่ได้รับเมื่อเดินทางถึงประเทศที่เป็นจุดหมายการเดินทาง ซึ่งจะได้รับตรงจุดตรวจคนเข้าเมือง
  6. วีซ่าคู่สมรสหรือวีซ่าแต่งงาน (Spouse Visa, Partner Visa, Marriage Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้คู่แต่งงานไม่ว่าชายหรือหญิง ที่เป็นคู่สมรสของผู้ถือสัญชาติของประเทศนั้น ๆ สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศของอีกฝ่ายหนึ่งและพำนักได้ถาวรตามบุคคลในครอบครัว
  7. วีซ่าคู่หมั้น(Fiancee Visa, Prospective Marriage Visa, settlement Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้คู่แต่งงานไม่ว่าชายหรือหญิง ที่มีความประสงค์จะเดินทางเข้าไปพำนักอยู่ในประเทศตามสัญชาติของอีกฝ่ายและจะต้องทำการสมรสผู้ถือสัญชาติของประเทศดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดตามวีซ่าและสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศของอีกฝ่ายหนึ่งและพำนักได้ถาวรตามบุคคลในครอบครัว
  8. วีซ่านักเรียน(Student Visa) เป็นวีซ่าซึ่งอนุญาตให้ทำการเรียนในประเทศที่ได้รับวีซ่านักเรียนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในบางประเทศอาจใช้วีซ่าท่องเที่ยวแทน
  9. วีซ่าท่องเที่ยวและทำงาน(Working Holiday Visa) เป็นวีซ่าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศผู้เป็นภาคี มีสาระสำคัญคือ สามารถเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและทำงานภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้

♦  วีซ่าการทูต (Diplomatic Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้แก่ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางทางการทูตหรือเพื่อการของรัฐของประเทศนั้น ๆ
♦  วีซ่านักเขียน (Journalist Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้กับนักเขียนหรือผู้สื่อข่าวจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ
♦  
วีซ่าอพยพ (Immigration Visa) เป็นวีซ่าอนุมัติให้กับผู้ที่ต้องการอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่อนุญาต
♦  
วีซ่าผู้รับบำนาญหรือวีซ่าผู้เกษียณ (Pensioner Visa หรือ Retirement Visa) เป็นวีซ่าซึ่งบางประเทศอนุญาตให้สำหรับผู้ที่สามารถแสดงตนได้ว่ามีรายได้ในต่างประเทศซึ่งไม่ใช่ประเทศที่ออกวีซ่าดังกล่าวให้ แต่ต้องเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพและไม่มีความประสงค์ที่จะทำงานแล้ว มักมีการจำกัดอายุของผู้รับอนุญาต
♦  
วีซ่าลูกเรือ (Ship Crew Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้กับ ลูกเรือของสายการบินที่ต้องเดินทางเข้ามาพร้อมสายการบิน หรือ ลูกเรือที่ทำงานให้กับเรือเดินสมุทรที่ทำงานบนเรือเดินสมุทรของต่างประเทศที่แล่นอยู่ในบริเวณน่านน้ำภายในไหล่ทวีปนอกชายฝั่ง

ประเภทและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตรวจลงตราประเภทต่าง ๆ

  1. การตรวจลงตราประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa)
  2. การตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa)
  3. การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)
  4. การตรวจลงตราประเภททูต (Diplomatic Visa)
  5. การตรวจลงตราประเภทราชการ (Official Visa)

การตรวจลงตราประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa)

  1. การตรวจลงตราประเภทนี้จะออกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อการใดการหนึ่งดังต่อไปนี้

♦  เพื่อเดินทางผ่านราชอาณาจักร  (รหัส TS )
♦  เพื่อเล่นกีฬา  (รหัส S )
♦  เป็นผู้ควบคุมพาหนะหรือเป็นคนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ในราชอาณาจักร (รหัส C)

  1. อายุวีซ่า 3 เดือน
  2. ค่าธรรมเนียม 800 บาท ต่อครั้ง
  3. ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร ครั้งละไม่เกิน 30 วัน
  4. จำนวนเงินที่คนต่างด้าวต้องมีติดตัวขณะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรคือต้องมีเงินหรือเอกสารที่จะพึงจ่ายหรือแลกเปลี่ยนได้เป็นมูลค่าเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยคนละไม่น้อยกว่า10,000บาทครอบครัวละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท
  5. เอกสารที่ใช้ยื่นประกอบในการขอรับการตรวจลงตรา

♦  หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง อายุใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
♦  แบบฟอร์มวีซ่าที่กรอกข้อความสมบูรณ์
♦  รูปถ่ายขนาด 2 ½ นิ้ว จำนวน 2 รูป (ถ่ายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน /ไม่สวมหมวก และแว่นตาดำ)
♦  บัตรโดยสารเครื่องบิน ไป-กลับ หรือที่จะเดินทางไปยังประเทศที่สาม
♦  วีซ่าของประเทศที่สามในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง  (รหัส TS)
♦  หนังสือเชิญให้เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬา  (รหัส  S)
♦ หนังสือรับรองว่าเป็นผู้ควบคุมพาหนะหรือเป็นคนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ในราชอาณาจักร  (รหัส C)
♦  ทั้งนี้ อาจขอให้แสดงเอกสารเพิ่มเติมหรือสัมภาษณ์ผู้ขอรับการตรวจลงตราด้วย

การตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว (Tourist Visa)

  1. การตรวจลงตราประเภทนี้จะออกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยว (รหัส TR)
  2. อายุวีซ่า 3 เดือน
  3. ค่าธรรมเนียม ต่อครั้ง 1,000 บาท
  4. ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร 60 วัน และสามารถต่อได้อีก 30 วัน
  5. จำนวนเงินที่คนต่างด้าวต้องมีติดตัวขณะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรคือต้องมีเงินหรือเอกสารที่จะพึงจ่ายหรือแลกเปลี่ยนได้เป็นมูลค่าเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยคนละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท ครอบครัวละไม่น้อยกว่า 40,000 บาท
  6. เอกสารที่ใช้ยื่นประกอบในการขอรับการตรวจลงตรา

♦  หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง อายุใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
♦  แบบฟอร์มขอวีซ่าที่กรอกข้อความสมบูรณ์
♦  รูปถ่ายขนาด 2 ½ นิ้ว จำนวน 2 รูป (ถ่ายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน / ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ)
♦  หลักฐานที่แสดงว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทยหลังจากสิ้นสุดการท่องเที่ยว เช่น บัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับ หรือที่จะเดินทางไปยังประเทศที่สาม
♦  เอกสารจากบริษัทท่องเที่ยว (กรณีที่เดินทางมากับบริษัททัวร์)
♦  ทั้งนี้ อาจขอให้แสดงเอกสารเพิ่มเติมหรือสัมภาษณ์ผู้ขอรับการตรวจลงตราด้วย

  1. คนต่างด้าวที่ประสงค์จะขยายระยะเวลาพำนักในประเทศไทยหรือเปลี่ยนแปลงประเภทวีซ่า ต้องยื่นคำร้อง ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
    โทร. 02-141-9889 เว็บไซต์ http://www.immigration.go.th  การพิจารณาอนุมัติขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง

หมายเหตุ  อัตราค่าธรรมเนียมอาจเปลี่ยนแปลงไปตามที่กฎหมายกำหนด

การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)

  1. การตรวจลงตราประเภทนี้จะออกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

♦  การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ (รหัส F)
♦  การติดต่อหรือประกอบธุรกิจ และการทำงาน (ฺรหัส B)
♦  การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (รหัส IM)
♦  การลงทุนหรือการอื่นภายใต้ข้อบังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (รหัส IB)
♦  การศึกษา ดูงาน และฝึกอบรมต่างๆ (รหัส ED)
♦  การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน (รหัส M)
♦  การเผยแผ่ศาสนาที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (รหัส R)
♦  การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หรือฝึกสอนในสถาบันการค้นคว้า หรือสถาบันการศึกษาในราชอาณาจักร   (รหัส RS)
♦  การปฏิบัติงานด้านช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ (รหัส EX)
♦  การอื่น (รหัส O) ได้แก่

1) การเข้ามาใช้ชีวิตในบั้นปลายในฐานะผู้สูงอาย
2) การเข้ามาในฐานะคู่ความหรือพยานสำหรับการพิจารณาดำเนินคดี
3) การปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในครอบครัวคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางการทูต กงสุลหรือปฏิบัติภารกิจอื่น โดยเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร ซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
4) การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อมาทำงานตามปกติ ณ ที่พักอาศัยของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต หรือบุคคลซึ่งมีเอกสิทธิ์เท่าเทียมกัน กับบุคคลซึ่งมีตำแหน่งทางการทูตตามความตกลงที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ หรือกับองค์การ หรือทบวงการระหว่างประเทศ
5) การให้ความอุปการะแก่หรือรับความอุปการะจากบุคคลสัญชาติไทย หรือบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร ซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
6) การปฏิบัติหน้าที่ให้แก่รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การกุศลสาธารณะ
7) การเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้เคยมีสัญชาติไทย เพื่อเยี่ยมญาติ หรือขอกลับเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร
8) การเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการรักษาพยาบาล
9) การเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาตามความต้องการของทางราชการ

  1. อายุวีซ่า

♦  3 เดือน สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้ครั้งเดียว (single entry)
♦  1 ปี สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง (multiple entries)

  1. ค่าธรรมเนียม 2,000 บาท (single entry) และ 5,000 บาท (multiple entries)
  2. ระยะเวลาพำนักขึ้นอยู่กับประเภทของวีซ่า
  3. จำนวนเงินที่คนต่างด้าวต้องมีติดตัวขณะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร คือ ต้องมีเงินหรือเอกสารที่จะพึงจ่ายหรือแลกเปลี่ยนได้เป็นมูลค่าเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยคนละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท ครอบครัวละไม่น้อยกว่า 40,000 บาท
  4. การขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาพำนักให้อยู่ต่อไปในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ คนต่างด้าวสามารถยื่นคำร้องได้ ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โทร. 02-141-9889   เว็บไซต์ http://www.immigration.go.th  การพิจารณาอนุมัติขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง
  5. เอกสารที่ใช้ยื่นประกอบในการขอรับการตรวจลงตรา

          เนื่องจากการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการเดินทางเข้าประเทศไทยหลายประการ  เอกสารหลักฐานที่ใช้ยื่นประกอบในการขอรับการตรวจลงตราจึงแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการเดินทาง  และสถานทูตสถานกงสุลอาจขอให้แสดงเอกสารเพิ่มเติมหรือสัมภาษณ์ผู้ขอรับการตรวจลงตราด้วย

เอกสารที่ต้องนำไปแสดง ได้แก่

♦  หนังสือเดินทางที่มีอายุใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
♦  แบบฟอร์มวีซ่าที่กรอกข้อความสมบูรณ์
♦  รูปถ่ายขนาด 2 ½ นิ้ว จำนวน 2 รูป (ถ่ายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน /ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ)
เอกสารประกอบตามวัตถุประสงค์ของการเดินทาง เช่นการเข้ามาในฐานะเป็นบุคคลในครัวเรือนหรือในความอุปการะ  (รหัส O)
♦  หลักฐานการเป็นบิดา มารดา บุตร / สูติบัตร / ใบสำคัญการสมรส
♦  หนังสือรับรองการทำงาน ใบอนุญาตทำงานที่ยังมีอายุใช้งาน ของผู้ที่ทำงานในประเทศไทย
♦  หลักฐานแสดงว่าคู่สมรสเป็นคนสัญชาติไทย หรือเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หลักฐานแสดงฐานะทางการเงิน
♦  หนังสือจากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ แล้วแต่กรณีเข้ามาเพื่อรับการรักษาพยาบาล (รหัส  O)
♦  หนังสือตอบรับจากสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐในประเทศไทยคู่ความหรือพยานในศาล (รหัส  O)
♦  หนังสือหรือหมายจากศาลของไทยการเข้ามาเพื่อใช้ชีวิตในฐานะผู้สูงอายุ  (รหัส  O)
♦  ผู้ร้องต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ระบุวัตถุประสงค์ว่าจะขอเข้ามาใช้ชีวิตในฐานะผู้สูงอายุหรือเกษียณ และจะไม่ทำงานในระหว่างพำนักในไทย
♦  หลักฐานแสดงฐานะทางการเงินหรือหลักฐานการได้รับเงินบำนาญ (ต้องมีเงินฝากไม่น้อยกว่า 200,000 บาท หรือมีรายได้/บำนาญไม่น้อยกว่าเดือนละ 65,000 บาท)

 **หมายเหตุ**

  1. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศไทยเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะพิจารณาอนุญาตให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 90 วัน  การขยายระยะเวลาพำนัก จะต้องติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
  2. หากเป็นการขอขยายระยะเวลาพำนักระยะยาว คือ 1 ปี สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์การเข้าเมืองของคนต่างด้าวซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีบริบูรณ์ ซึ่งประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่อเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรคราวละไม่เกิน 1 ปี  รหัส O-A   โดยใช้หลักเกณฑ์ว่าผู้ร้องต้องมีหลักทรัพย์เป็นเงินฝาก 800,000 บาท หรือมีรายได้/บำนาญเดือนละ 65,000 บาท  หรือมีเงินฝากและรายได้รวมกันไม่น้อยกว่า 800,000 บาท)

นักเรียน / นักศึกษา  (รหัส  ED)

♦  หนังสือตอบรับจากสถานศึกษา
♦  หนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กรณีเป็นโรงเรียนเอกชน) นักบวชที่จะเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา (รหัส  ED)
♦  หนังสืออนุญาตจากสำนักงานพระพุทธศานาแห่งชาติการปฏิบัติหน้าที่ราชการ (รหัส  F ) การปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ (รหัส B) การฝึกอบรม ดูงาน (รหัส ED)
♦  หนังสือจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องการทำงาน (รหัส  B)
♦  หนังสือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งผลการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในบริษัทฯ ที่ขอได้  (ในการขอรับหนังสือกรมการจัดหางานดังกล่าว นายจ้างที่จะจ้างคนต่างด้าวต้องไปยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตทำงาน ในเขตกรุงเทพมหานคร ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1-10 ต่างจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งหากอนุญาตให้คนต่างด้าวดังกล่าวมาทำงานได้ตามที่ขอ กระทรวงแรงงานจะมีหนังสือแจ้งผลการอนุญาต  ให้นายจ้างส่งหนังสือกรมการจัดหางานดังกล่าวให้คนต่างด้าวใช้เป็นเอกสารประกอบการขอวีซ่า)
♦ หนังสือจากบริษัทในประเทศไทยที่จะจ้างงานบุคคลต่างด้าวดังกล่าวชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการจ้างงาน พร้อมทั้งแนบเอกสารของบริษัท เช่น ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดจากกระทรวงพาณิชย์ / บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น / ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ถ้ามี) / ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม / งบการเงินปีล่าสุด ฯลฯ

**หมายเหตุ**

  1. เมื่อคนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa “B”) จากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่แล้ว เมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ให้ไปติดต่อกองงานคนต่างด้าว เพื่อยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และเมื่อได้รับใบอนุญาตทำงานแล้ว จึงจะสามารถทำงานได้
  2. ในกรณีของคนต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานและพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 1 ปี นายจ้างจะต้องยื่นคำร้องต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อได้รับพิจารณาอนุมัติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทราบโดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอให้ตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส B-A  ซึ่งพำนักได้ 1 ปี ให้แก่คนต่างด้าวนั้นต่อไป ]

การติดต่อธุรกิจ (รหัส B)

♦  หนังสือรับรองการทำงานของบริษัทที่ผู้ร้องทำงานอยู่ รวมทั้งระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทางไปประเทศไทย ชื่อบริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานที่จะไปติดต่อ
♦  หลักฐานแสดงฐานะทางการเงินหรือการทำธุรกิจของผู้ร้อง (กรณีไม่ได้ทำงานกับริษัทหรือหน่วยงานใดๆ)
♦  หลักฐานแสดงสถานะทางการเงิน/โครงการที่จะเข้ามาประกอบในประเทศไทย (กรณีประสงค์จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบกิจการในประเทศไทย)
♦  หนังสือเชิญของบริษัทในประเทศไทยให้ผู้ร้องเดินทางไปประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจ  (โดยต้องแนบเอกสารของบริษัท เช่น ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดจากกระทรวงพาณิชย์ / บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น / ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ถ้ามี) / ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม / งบการเงินปีล่าสุด ฯลฯ)
♦  กรณีผู้ร้องอ้างว่าเป็นที่ปรึกษาของบริษัท ต้องมีสำเนาหนังสือแต่งตั้งบุคคลของบริษัทยื่นประกอบด้วย

**หมายเหตุ**

  1. สำเนาเอกสารของบริษัทฯ จะต้องให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทหรือหุ้นส่วนผู้จัดการลงนามและประทับตรารับรอง โดยต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงนามด้วย
  2. กรณีหนังสือของบริษัท ควรได้รับการรับรองจากสำนักงานทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์ อายุไม่เกิน 6 เดือน – 1 ปี เนื่องจากบริษัทหลายแห่งมิได้ดำเนินธุรกรรมใดๆ ในปัจจุบัน แต่นำเอกสารบริษัทเดิมไปใช้ในการรับรอง

ครู / อาจารย์ในสถาบันการศึกษาเอกชน  (รหัส  B)

♦  หนังสือตอบรับการจ้างจากสถาบันการศึกษา
♦  หนังสืออนุมัติให้จ้างบุคคลดังกล่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช) หรือจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ส่วนภูมิภาค)
♦  หลักฐานวุฒิการศึกษา
♦  หนังสือรับรองว่าไม่มีประวัติอาชญากรรม

การตรวจลงตราประเภททูต (Diplomatic Visa)

  1. การตรวจลงตราประเภทนี้จำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุล หรือการปฏิบัติหน้าที่ราชการและผู้ร้องจะต้องถือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติ (UN Laissez-Passer) ซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตเท่านั้น
  2. ผู้ร้องจะต้องแสดงหนังสือนำจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศผู้ขอ หรือจากหน่วยงานหรือองค์กรของสหประชาชาติที่ผู้ร้องสังกัดอยู่ โดยหนังสือรับรองจะต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง และวัตถุประสงค์การเดินทางให้ชัดเจน
  3. ยกเว้นค่าธรรมเนียม
  4. ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

การตรวจลงตราประเภทราชการ (Official Visa)

  1. การตรวจลงตราประเภทนี้จำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ และผู้ร้องจะต้องถือหนังสือเดินทางราชการหรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติ (UN Laissez-Passer) ซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น
  2. ผู้ร้องจะต้องแสดงหนังสือนำจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุล/หน่วยราชการ ของประเทศผู้ขอ หรือจากหน่วยงาน หรือองค์กรของสหประชาชาติที่ผู้ร้องสังกัดอยู่ หรือจากหน่วยราชการของไทย โดยหนังสือรับรองจะต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง และวัตถุประสงค์การเดินทางให้ชัดเจน
  3. ยกเว้นค่าธรรมเนียม
  4. ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

การตรวจลงตราประเภทอัธยาศัยไมตรี (Courtesy Visa)

  1. การตรวจลงตราประเภทอัธยาศัยไมตรีจำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

♦การขอรับการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางราชการ เพื่อการอื่นนอกจากการเข้ามาประจำการในราชอาณาจักร เพื่อปฏิบัติหน้าที่การทูต หรือกงสุล หรือราชการ
♦ การขอรับการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งประสงค์จะเข้ามาในราชอาณาจักรในฐานะเป็นพระราชอาคันตุกะ ราชอาคันตุกะ แขกของรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ

  1. เอกสารประกอบในการขอรับการตรวจลงตรา

♦ หนังสือเดินทาง
♦ แบบฟอร์มคำร้องขอรับการตรวจลงตราที่กรอกข้อความสมบูรณ์ พร้อมรูปถ่าย
♦หนังสือนำจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุล/หน่วยราชการ ของประเทศผู้ร้อง หรือจากหน่วยงานหรือองค์กรของสหประชาชาติที่ผู้ร้องสังกัดอยู่ หรือจากหน่วยราชการของไทย โดยหนังสือรับรองจะต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง และวัตถุประสงค์การเดินทางให้ชัดเจน

  1. อายุวีซ่า 3 เดือน หรือ 6 เดือน สามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง (multiple entries)
  2. ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
  3. ไม่เก็บค่าธรรมเนียม
  4. การขยายระยะเวลาพำนัก เมื่อครบกำหนดตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยทั่วไปสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะไม่อนุญาตให้อยู่ต่อไป เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเดินทางออกไปได้ โดยในการขอยื่นคำร้องขออยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะต้องมีหนังสือรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศแจ้งขอเป็นรายๆ ไป เพื่อนำเรื่องเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งการ และต้องเสียค่าธรรมเนียมการขออยู่ต่อตามปกติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

RELATED POST

สถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ออกประกาศสถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมา

ประกาศสถานเอกอัครราช…

กรมการจัดหางาน ย้ำ นายจ้างเร่งพาแรงงานต่างด้าวขอใบอนุญาตทำงาน ก่อนหมดอายุ 31 มีนาคม 2563

  นายสุชาติ พรช…

การนำเข้าแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา

         การจ้างแรงง…

พิสูจน์สัญชาติ ทำพาสปอร์ต

ขั้นตอนการดำเนินการพ…